วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แผ่นแปะคุมกำเนิด


ยาคุมแผ่นแปะ
ลักษณะแผ่นแปะผิวหนังจะเป็นแผ่นบาง มีขนาด 20 ตารางเซนติเมตร  ประกอบด้วยฮอร์โมนที่ใช้คือ Norelgestromin 6 mg และ ethinyl estradiol 600 mcg ซึ่ง Norelgestromin(NGMN) คือ active metaboliteของ Norgestimate ซึ่งเป็น3rd generation progesterone โดยฮอร์โมนจะถูกปล่อยออกมา และดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างต่อเนื่องโดยไม่ผ่านตับ 
เป็นยาคุมกำเนิดแบบใหม่ที่เพิ่งเข้านำเข้ามาใช้ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิด Combined pill โดยใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะสัปดาห์ละ 1 แผ่น ในระหว่างที่ใช้แผ่นแปะ สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ เช่น อาบน้ำ ว่ายน้ำ ออกกำลังกาย โดยไม่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยา จึงเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ง่าย สะดวก ลดปัญหาการลืมทานยาเม็ด


กลไกการออกฤทธิ์ของยา :
ออกฤทธิ์เหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด โดยลดการหลั่งฮอร์โมน gonadotrophin จาก hypothalamus มีผลไปยับยั้งการตกไข่ เปลี่ยนสภาพมูกบริเวณปากช่องคลอดเพื่อให้อสุจิผสมกับไข่ได้ยากขึ้น


เภสัชจลนพลศาสตร์ :
การดูดซึมยา     ค่าเฉลี่ยของ NGMN ที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดต่อแผ่นประมาณ 150 mcg/วัน ส่วนปริมาณของ EEในกระแสเลือดคือ 20 mcg/วัน หลังจากแปะแผ่นยาทั้ง NGMN และ EE จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้หมดอย่างรวดเร็วและจะมีระดับยาคงที่หลังจากแปะยาไปแล้วประมาณ 48 ชั่วโมง โดยที่ระดับยาจะใกล้เคียงกันไม่ว่าจะแปะแผ่นยาบริเวณ สะโพก หน้าท้อง ต้นแขนด้านนอก หรือ แผ่นหลังด้านบน
การเปลี่ยนแปลงยาของการแปะแผ่นยาคุมกำเนิดจะไม่ผ่านกระบวนการ First-pass metabolism ที่ตับ
Distribution     Norelgestromin จับกับโปรตีนในร่างกายได้ >97% โดยจับกับ albumin แต่ไม่จับกับ sex hormone binding globulin (SHBG) ส่วน Ethinyl estradiol สามารถจับกับ albumin ได้มาก 50%-90%
Elimination     metabolites ของ norelgestromin และ ethinyl estradiol จะถูกกำจัดทางปัสสาวะและอุจจาระ  

การใช้ยาในประชากรกลุ่มพิเศษ:
มีการศึกษาทาง Pharmacokinetic ในประชากลุ่มที่มีเชื้อชาติ อายุ น้ำหนักตัว และ พื้นที่ผิวของร่างกายที่แตกต่างกันพบว่าปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้ระดับ norelgestromin และ ethinyl estradiol ในกระแสเลือดแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย

ข้อบ่งใช้และขนาดยาที่ใช้
ได้มีการอนุมัติจาก FDA ของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2001 ให้เป็นยาคุมกำเนิดชนิดแปะชนิดแรกที่สามารถใช้แทนยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดกิน สำหรับคนที่ไม่สามารถรับประทานยาได้ หรือคนที่ชอบลืมกินยา หรือไม่ชอบกินยา

ผลข้างเคียง: 
อาการข้างเคียงก็เหมือนอาการข้างเคียงของยาเม็ดคุมกำเนิดทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ซึมเศร้า น้ำหนักเพิ่มเล็กน้อยขึ้นกับแต่ละคน ในบางคนพบว่ามีความต้องการทางเพศเปลี่ยนไป อาจมีเลือดออกกระปริดกระปรอย เต้านมจะแข็งขึ้นและใหญ่ อาจมีน้ำนมไหลได้ เหงือกอักเสบ ความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน นอกจากนี้เนื่องจากเป็นยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะดังนั้นอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่แปะได้

ข้อควรระวัง/ข้อห้ามใช้:
ควรระวังการใช้ในผู้หญิงที่มีน้ำหนักมากเกินกว่า 198 ปอนด์ เนื่องจากมีการศึกษาและทดสอบผู้หญิงจำนวน 3,319 คนพบว่ามี 15 คนที่ตั้งครรภ์ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีน้ำหนักกิน 198 ปอนด์

อันตรกริยาของยา:
ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลงเมื่อใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา หรือยากันชัก หรือยาอื่นที่อาจเพิ่มการกำจัดยานี้ มีข้อมูลทางเภสัชจลนศาสตร์ที่แสดงว่าการรับประทานยา tetracycline HCl 500 มิลลิกรัม 3- 7 วันไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของยา แต่อาหารเสริม St. John's Wort จะลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด

ขนาดและวิธีใช้:
ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ใน 1 กล่อง มีแผ่นแปะ 3 แผ่น ซึ่ง 3 แผ่นนี้จะใช้แปะผิวหนังใน 1 รอบเดือน (รอบเดือนปกติของสตรีจะมีระยะเวลาประมาณ 28 วัน หรือ 4 สัปดาห์) โดยใน แผ่นของยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะ จะแปะผิวหนังได้นาน 1 สัปดาห์ และต้องใช้ต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ของรอบเดือน ส่วนสัปดาห์ที่ 4 เป็นช่วงที่ไม่มีการใช้ยา สรุป คือ ใน1 รอบเดือน ให้แปะแผ่นยาคุมกำเนิด 3 สัปดาห์ และหยุดแปะ 1 สัปดาห์
เริ่มแปะแผ่นยาในวันแรกที่มีประจำเดือน โดยใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะในวันแรกที่รอบเดือนมา ซึ่งเริ่มใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดภายใน 24 ชั่วโมงในวันแรกที่รอบเดือนมา และนับวันที่แปะแผ่นคุมกำเนิดในวันนี้เป็นวันที่หนึ่งของการใช้ยาคุมกำเนิด ซึ่งวันเปลี่ยนแผ่นยาจะตรงกับวันที่แปะแผ่นยาคุมกำเนิดวันนี้ในทุกสัปดาห์ และมีผลในการคุมกำเนิดทันที่ ไม่ต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย
เริ่มแปะแผ่นยาในวันอาทิตย์ ระหว่างสัปดาห์ที่มีประจำเดือนมา โดยเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะในวันอาทิตย์ ส่วนรอบต่อไปก็เปลี่ยนแผ่นแปะทุกวันอาทิตย์ ทั้งนี้ในช่วง 7 วันแรก ควรใช้การคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย บริเวณที่เหมาะสมในการแปะแผ่นยาคุมกำเนิด คือ สะโพก หน้าท้อง ต้นแขนด้านนอก หรือ แผ่นหลังช่วงบน แต่ห้ามแปะบริเวณหน้าอก

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย:
-          แนะนำวิธีการแปะแผ่นยาที่ถูกต้องสำหรับผู้ป่วย
-          ห้ามใช้เครื่องสำอาง โลชั่น หรือครีม บนผิวหนังบริเวณที่จะแปะแผ่นยาและห้ามแปะแผ่นยาขณะที่ผิวหนังยังไม่แห้งสนิท
-          ฉีกซองยาที่รอยบากตรงมุมของซอง แล้วดึงแผ่นยาสีเนื้อ พร้อมแผ่นพลาสติกใสที่ติดอยู่ออกจากซองยาพร้อมๆกันโดยห้ามโดนบริเวณที่เป็นกาว
-          ลอกแผ่นพลาสติกใสซีกหนึ่งออกจากแผ่นยาคุมกำเนิด จากนั้นติดแผ่นยาคุมกำเนิดบนผิวหนังที่สะอาดและแห้งสนิททันที แล้วจึงดึงแผ่นพลาสติกอีกซีกหนึ่งออกจากแผ่นยา พร้อมทั้งติดแผ่นยาคุมกำเนิดส่วนที่เหลือให้แนบสนิทกับผิวหนังทั่วทั้งแผ่น
-          ผู้ใช้ควรกรีดแผ่นยาคุมกำเนิดให้ของแนบสนิทกับผิวหนังประมาณ 10 วินาที

ข้อควรปฏิบัติในกรณีลืมเปลี่ยนแผ่นยาคุมกำเนิด
-          กรณีลืมเปลี่ยนแผ่นยาในสัปดาห์แรกของรอบเดือน ให้แปะยาแผ่นใหม่ทันที่ที่นึกขึ้นได้ วันเปลี่ยนแผ่นยาจะเปลี่ยนใหม่จะเป็นวันใหม่นี้แทน และต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นด้วย เช่น สวมถุงยางอนามัยใน 7 วันแรก
-          กรณีลืมเปลี่ยนแผ่นยาในสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ของรอบเดือน
-          หากลืมน้อยกว่า 48 ชั่วโมง ควรปฏิบัติดังนี้ แปะแผ่นยาใหม่ทันทีที่นึกได้ และวันเปลี่ยนแผ่นยาคงเป็นวันเดิม ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีทุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย
-          หากลืมมากกว่า 48 ชั่วโมง ควรปฏิบัติดังนี้ แปะยาแผ่นใหม่ทันทีที่นึกขึ้นได้ ให้นับยาแผ่นใหม่ที่แปะนี้เป็นยาแผ่นแรกของรอบการใช้ยาแผ่นใหม่ทันที และต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น สวมถุงยางอนามันใน 7 วันแรก

ข้อควรปฏิบัติในกรณีแผ่นยาคุมกำเนิดหลุดลอก
-          กรณีแผ่นยาหลุดน้อยกว่า 1 วัน แปะยาแผ่นใหม่ทันที แล้วเปลี่ยนแผ่นยาใหม่ในวันเปลี่ยนแผ่นยาตามกำหนด
-          กรณีลืมแผ่นหลุดนานเกิน 1 วัน ผู้ใช้ควรหยุดรอบการนับการใช้แผ่นยาเดิม และให้เริ่มต้นการใช้แผ่นยาคุมกำเนิดรอบใหม่ทีนที และนับวันนี้เป็นวันแรกของการใช้รอบใหม่ และต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น สวมถุงยางอนามันใน 7 วันแรก

อาการอันไม่พึงประสงค์
-          คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ
-          อาจพบอาการคันเล็กน้อยในตำแหน่งที่แปะในแผ่นแรกของการใช้ยา ซึ่งอาการคันจะทุเลาลงใน 3-4 วัน
-          อาจพบเลือกออกกะปริดกะปรอยได้ในรอบเดือนแรกของการใช้ยา
-          ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดจะลดลง เมื่อใช้กับสตรีที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม



เอกสารอ้างอิง  
1.             ORTHO EVRA [package labeling]. Raritan, NJ: Ortho-McNeil Pharmaceutical, Inc.; 2001
2.             Abrams LS, Skee DM, Natarajan J, et al. Multiple-dose pharmacokinetics of a contraceptive patch in healthy women participants. Contraception. 2001;64:287-294
3.             Skee D, Abrams LS, Natarajan J, et al. Pharmacokinetics of a contraceptive patch at 4 application sites. Clin Pharmacol Ther. 2000;67:159. Abstract PIII-71
4.             Ortho evra : the only once-a-week birth control patch . Ortho-McNeil Pharmaceutical, Inc. 2005.
5.             Geoffrey H. Smallwood, Mary L. Meador, John P. Lenihan, Jr,Gary A. Shangold, Alan C. Fisher, George W. Creasy. Efficacy and Safety of a Transdermal Contraceptive System [online] available from http://acogjnl.highwire.org/cgi/reprint/98/5/799.pdf [accessed date 20 Aug 2006]



วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โรคเบาหวานคืออะไร

โรคเบาหวานคืออะไร
            โรคเบาหวาน โรคที่รู้จักกันมากขึ้นในปัจจุบันนี้  เป็นโรคที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาจเกิดจากการ ขาดอินซูลิน หรือการไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ในการ ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ปัจจุบันเราพบผู้ป่วย เบาหวานมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะความอ้วน และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ ไม่เหมาะสม
ความสำคัญของการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
           การดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์เราปฏิเสธ ไม่ได้ว่า การใช้เท้าในการเดินเป็นกิจกรรมที่สำคัญ โดย เฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 4-6 ชั่วโมง ในผู้ป่วยเบาหวาน     สิ่งที่มีผลต่อการเกิดแผลที่เท้าได้แก่ การที่เส้นเลือดส่วน ปลายที่เลี้ยงขาและเท้าตีบ ในกรณีที่เป็นเบาหวาน มานานๆ ร่วมกับมีการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้มีโอกาสเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย และแผลเหล่านี้ สิ่งอันตรายได้แก่ การไม่รู้สึกเจ็บปวดที่แผลทำให้มี โอกาสเกิดการลุกลามและเรื้อรังของแผล นำไปสู่การ ตัดขาในที่สุด ในผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดพบว่า ร้อยละ 15 มีประสบการณ์การเกิดแผลที่เท้า และในผู้ป่วยที่มี แผลที่เท้าร้อยละ 14-24 ต้องถูกตัดขา ดังนั้นการป้องกัน การเกิดแผลที่เท้าจะช่วยลดอัตราการตัดขา ช่วยเพิ่ม คุณภาพชีวิต ลดภาระครอบครัว และลดค่าใช้จ่ายใน การรักษาพยาบาลระยะยาว
ห้าขั้นตอนในการรักษาสุขภาพเท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
            1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี
           
2. ดูแลสุขภาพเท้าอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ
           
3. ตรวจดูเท้าของตัวเองทุกวัน
           
4. เมื่อมีปัญหาที่เท้าต้องรักษาทันที
           
5. มาพบแพทย์หรือพยาบาลเพื่อตรวจดูเท้าอย่างสม่ำเสมอ


22 วิธีการดูแลเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
            1. สำรวจเท้าทุกวันโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ถ้าก้มลงมองไม่สะดวกควรใช้กระจกส่องดู ถ้ามีแผลหรืออักเสบแม้เพียงเล็กน้อย ให้ปรึกษาแพทย์ทันที

            2. ทำความสะอาดเท้าทุกวันด้วยสบู่อ่อนและเช็ดให้แห้ง รวมทั้งบริเวณซอกนิ้วเท้า ไม่ควรแช่เท้าในน้ำเกินกว่า 5 นาที และไม่ควรแช่เท้าในน้ำอุ่น เพราะผู้ป่วยเบาหวานมีปัญหาเท้าชาอยู่แล้ว อาจไม่รู้ว่าน้ำร้อนเกินไปทำให้เท้าพุพองได้เวลาแช่น้ำ

            3.ถ้าผิวแห้งเกินไปหรือมีรอยแตกเป็นขุย ให้ทาวาสลินหรือโลชั่นทุกวัน แต่ไม่ควรทาบริเวณซอกนิ้วเท้าเนื่องจากทำให้ซอกนิ้วอับชื้นได้
            4.ไม่ควรใช้อุปกรณ์ให้ความร้อนเช่นกระเป๋าน้ำร้อนวางที่เท้าโดยไม่ทดสอบอุณหภูมิก่อน
            5.ไม่เดินเท้าเปล่า ควรใส่รองเท้าเสมอ ทั้งอยู่ในบ้านและนอกบ้าน ห้ามเดินเท้าเปล่าทั้งในบ้านและนอกบ้านโดยเฉพาะบนพื้นร้อนๆ เช่นหาดทราย พื้นซีเมนต์
            6.หากมีอาการเท้าเย็นกลางคืนแก้ไขโดยการสวมถุงเท้า
            7.เลือกสวมรองเท้าขนาดพอดี เหมาะกับรูปเท้า ตะเข็บน้อย และมีเชือกผูก สะดวกต่อการขยายขนาดเท้าหากเท้าบวม

            8.ไม่ควรสวมรองเท้าที่ทำจากยางหรือพลาสติก เนื่องจากมีโอกาสเสียดสีเป็นแผลง่าย
            9.ห้ามสวมรองเท้าแตะแบบที่ใช้นิ้วคีบสายรองเท้า
            10.ถ้าเท้าชาควรสวมรองเท้าหุ้มส้น
            11.หากต้องสวมรองเท้าใหม่ ระยะแรกไม่ควรสวมรองเท้าใหม่เป็นเวลานานหลายๆชั่วโมงต่อเนื่องกัน  ควรใส่สลับกับรองเท้าเก่าสักระยะหนึ่ง จนกระทั่งรองเท้าใหม่มีความนุ่ม เข้ากับรูปทรงของเท้าได้ดี
            12.ผู้ที่ต้องสวมรองเท้าหุ้มส้นทุกวันเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อเนื่องกัน ควรมีรองเท้าหุ้มส้นอีกหนึ่งคู่ ใส่สลับกัน และควรผึ่งรองเท้าที่ไม่ได้สวมให้แห้งเพื่อไม่ให้รองเท้าอับชื้นจากเหงื่อที่เท้า
            13.สวมถุงเท้าก่อนสวมรองเท้าเสมอ เลือกใช้ถุงเท้าที่ไม่มีตะเข็บและทำจากผ้าฝ้าย หากมีตะเข็บให้กลับเอาด้านในออก ถุงเท้าต้องไม่รัดแน่นเกินไป และควรเปลี่ยนทุกวัน
            14.สำรวจดูรองเท้าทั้งภายในและภายนอกก่อนสวมทุกครั้ง ว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในรองเท้าหรือไม่
            15.การตัดเล็บควรทำหลังล้างเท้าหรืออาบน้ำใหม่ๆ เพราะเล็บจะอ่อนและตัดง่าย ควรตัดเล็บแนวขวางเป็นเส้นตรงโดยให้ปลายเล็บเสมอปลายนิ้ว ห้ามตัดเล็บสั้นเกินไปจนลึกถึงจมูกเล็บ ห้ามตัดเนื้อเพราะอาจเกิดแผลและมีเลือดออก หากสายตาไม่ดีควรให้ผู้อื่นตัดเล็บให้
            16.ห้ามตัดตาปลาหรือหนังที่ด้านแข็งด้วยตนเอง และห้ามใช้สารเคมีใดๆลอกตาปลาเอง
            17.หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีหลอดเลือดแดงที่ขาตีบ
            18.คุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินไป เพื่อลดแรงกดที่เท้า
            19.ออกกำลังกายบริเวณขาและเท้าอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 15 นาที เพื่อให้เลือดไหลเวียนที่ขาดีขึ้น
            20.ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด
            21.งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ส้นเลือดตีบ
            22.หากพบว่ามีแผลแม้เพียงเล็กน้อย ให้ทำความสะอาดทันที และควรพบแพทย์โดยเร็ว

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จะกิน..ยา ตอนไหนดีนะ

เวลาอ่านซองยา หลายท่านอาจสงสัยว่า ยาที่ระบุว่า "กินก่อนอาหาร" ควรกินก่อนอาหารกี่นาที หรือสามารถกินหลังอาหารแทนได้หรือไม่ หากลืมกิน และหากบนซองยาระบุว่า "กินหลังอาหาร" จะต้องกินหลังอาหารทันทีหรือไม่ หากกินเมื่อท้องว่าง ยาจะกัดกระเพาะอาหารหรือไม่ เหตุผลที่ต้องระบุบนซองยาว่า "กินก่อนอาหาร" เนื่องจาก
  • อาหารจะลดการดูดซึมของยา ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ จึงแนะนำให้กินตอนท้องว่าง ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง ได้แก่ ยาฆ่าเชื้อบางชนิด เช่น คล๊อกซาซิลลิน (Cloxacillin) อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromy-cin) เป็นต้น
  • เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังจากกินอาหารจึงแนะนำให้กินยาก่อนอาหารประมาณ 30 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เริ่มออกฤทธิ์ เช่น ยาเมโตโคลปราไมด์ (Metoclopramide) ดอมเพอริโดน (Domperidone)
ส่วนเหตุผลที่ต้องระบุว่า "กินหลังอาหารทันที" หรือ "พร้อมอาหาร"
  • เพื่อลดผลข้างเคียงของยาที่ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ้ากินตอนท้องว่าง หากกินยาวันละ 1 มื้อ เภสัชกรจะแนะนำให้กินยาพร้อมอาหารมื้อที่หนักสุดของวันและดื่มน้ำตามมากๆ ได้แก่ ยาลดการปวดอักเสบของกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโบรเพน (Ibuprofen) อินโดเมธาซิน (Indomethacin) แม้ว่ายากลุ่มนี้จะถูกพัฒนาให้มีผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารน้อยลง เช่น โรฟีคอกซิบ (Rofecoxib) มีลอกซิแคม (Meloxicam) แต่ก็ยังต้องกินหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ เช่นกัน เพราะการกินยากลุ่มนี้หลังอาหารทันทีจะช่วยลดอาการคลื่นไส้ลง และป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหารด้วย
  • เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ในช่วงเวลานั้นๆ เช่น ยาลดกรดประเภทอลูมินัม แมกนีเซียม มักแนะนำให้กินหลังอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน เนื่องจากพบว่าระดับของกรดในกระเพาะอาหารมีประมาณสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง และก่อนนอน เนื่องจากพบว่าระดับของกรดในกระเพาะอาหาร มีประมาณสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมงหลังอาหารและเวลากลางคืน หรือยาที่ให้ร่วมกับยาเบาหวานบางขนาน ได้แก่ อคาร์โบส (Acarbose) โวกลิโบส (Voglibose) แนะนำให้กินพร้อมกับอาหารคำแรก เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมน้ำตาล ในระยะเวลาเดียวกับที่เริ่มมีการดูดซึมน้ำตาลในทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด เช่นเดียวกับยาที่ดักจับไขมัน ออริสแตท (Orlistat) แนะนำให้กินพร้อมอาหารคำแรกในมื้อที่มีอาหารไขมันสูง
  • ป้องกันการรบกวนการดูดซึมของยาอื่นที่กินร่วมด้วย ในผู้ป่วยท้องเสียบางรายที่ได้รับยาคอเทสไทรามีน (Cholestyramine) หรือแอ็คติเวทเต็ด ชาร์โคล (Activated Charcoal) โดยแนะนำให้กินห่างจากยาอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เนื่องจากยาทั้ง 2 ตัวอาจไปดูดซับยาอื่นที่ให้ร่วมด้วย ทำให้การออกฤทธิ์ของยานั้นลดลง
เหตุผลที่กล่าวข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแนะนำเพื่อให้การรักษาของแพทย์มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือของผู้ป่วย ดังนั้นหากท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องใช้ยาและมีปัญหาเรื่องยา อย่ารีรอที่จะขอคำปรึกษาจากแพทย์และเภสัชกร

การรับประทานยา

ยารับประทาน เป็นรูปแบบยาที่ใช้รักษาโรคอย่างกว้างขวางที่สุด เนื่องจากวิธีใช้ยาที่ง่ายสะดวกอย่างมาก โดยทั่วไปการรับประทานยาขณะที่ท้อง (กระเพาะลำไส้) ว่างจะทำให้ยาถูกดูดซึมได้มากที่สุด แต่ยาบางชนิดอาจถูกกำหนดให้รับประทานในเวลาแตกต่างออกไป ด้วยเหตุผลที่จำเป็นอื่นๆ เช่น ยาในกลุ่มเตตร้าซัยคลิน มักต้องรับประทานพร้อมหรือหลังอาหารทันทีเพื่อลดอาการคลื่นไส้ ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่พบบ่อย
วิธีรับประทานยามีหลายรูปแบบ ได้แก่
  1. ยาก่อนอาหาร : ให้รับประทานก่อนอาหาร (รวมทั้งนม ขนม ฯลฯ) 30-60 นาที
  2. ยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที : ให้รับประทานอาหารครึ่งหนึ่งแล้วรับประทานยา แล้วจึงรับประทานอาหารต่อจนอิ่มหรือรับประทานอาหารคำสุดท้ายแล้วรับประทานยาทันที
  3. ยาหลังอาหาร : ให้รับประทานหลังอาหาร 15-30 นาที
  4. ยาระหว่างมื้ออาหาร : ให้รับประทานยาก่อนหรือหลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง โดยถ้าเลือกรับประทานยาเป็นก่อนอาหาร (หรือหลังอาหาร) แล้วครั้งต่อไปก็ต้องรับประทานก่อนอาหาร (หรือหลังอาหาร) ทุกครั้งของการรักษาคราวนั้นๆ
  5. ยาก่อนนอน : รับประทานก่อนเข้านอน 15-30 นาที
  6. ยาตามอาการต่าง : เช่น รับประทาน 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมงเวลาปวด หมายความว่า รับประทานครั้งละ 2 เม็ด เมื่อมีอาการปวด ถ้าต่อมามีอาการปวดอีกแต่ยังไม่ถึง 4-6 ชั่วโมง ยังไม่ควรรับประทานยานั้นซ้ำอีก เพราะอาจเกิดพิษจากยาเกินขนาดได้ ต้องรอให้ครบอย่างน้อย 4 ชั่วโมง จึงจะรับประทานยาครั้งต่อไปได้
หมายเหตุ:
การลืมรับประทานยาครั้งหนึ่ง ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าใกล้ถึงเวลามื้อต่อไปแล้ว ให้ข้ามมื้อที่ลืมไปเสีย อย่าเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า ในมื้อต่อไปเป็นอันขาด

วิธีละลายยาผงแห้งปฏิชีวนะ

1. หากต้องใช้ยาชนิดเดียวกันมากกว่า 1 ขวด ให้ละลายยาทีละขวด
2. เคาะผงยาในขวดให้ร่วน
3. ใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้วหรือน้ำดื่มที่สะอาดละลายยา ห้ามให้น้ำร้อนหรือน้ำอุ่นเนื่องจากยาไวต่อความร้อนจะสลายตัวหรือเสื่อมสภาพ
4. เปิดฝาขวดยา เติมน้ำลงในขวดยาประมาณครึ่งขวด ปิดฝาขวด เขย่าให้ผงยาเปียกทั่วและกระจาย ไม่จับเป็นก้อน
5. เปิดฝาขวดยาอีกครั้ง เติมน้ำลงในขวดจนถึงขีดที่กำหนดไว้บนขวดยาหรือขีดบอกบนฉลากยา
6. ปิดฝาขวดยา เขย่าให้ยากระจายเข้ากันดี
7. ก่อนรินยา ต้องเขย่าขวดก่อนทุกครั้ง ยาที่ผสมแล้วมีอายุการใช้ไม่เกิน 7 วัน และเก็บยาไว้ในที่เย็นหรือในตู้เย็น
ช่องธรรมดา

การใช้ยาในผู้สูงอายุ

กลุ่มผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระภาพและพยาธิสภาพของร่างกายที่เสื่อมไปเนื่องอายุที่มากขึ้น      ระบบการย่อยอาหาร  การดูดซึม  การเปลี่ยนแปลงยา การกำจัดยาออกหรือแม้แต่ความทนต่อการใช้ยาย่อมแตกต่างไปจากวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่     ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะมีโรคประจำตัวอยู่ทำให้มีการใช้ยาร่วมกันจำนวนมากหรือใช้ยาหลายชนิด    จึงต้องมีความระมัดระวังในการใช้ยาเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ    ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุควรมีความรู้เบื้องต้นอย่างง่ายดังนี้
หลักการให้ยา  ที่นิยมกันเป็นสากล คือ  กฎ  6  R เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาก่อนให้ยา ดังนี้


R1
Right  Person
คือ
ให้ถูกต้องกับคน  คือ ตัวผู้ป่วยที่สูงอายุ
R2
Right  Drug
คือ
ให้ถูกชนิดยา  ซึ่งจะบ่งบอกถึงสรรพคุณยาในการรักษาโรคแต่ละ
โรคที่แตกต่างกัน
R3
Right  Dose
คือ
ให้ถูกขนาดยา  เช่น  เป็นมิลลิกรัม, เม็ด  แคปซูล หรือเป็นหยด
R4
Right  Route
คือ
ให้ถูกทาง เช่น ทางปาก ทางผิวหนัง หยอดตา หรือ เหน็บทวารหนัก
R5
Right  time
คือ
ให้ถูกเวลา เช่น ก่อนอาหารเช้า หรือ หลังอาหาร หรือให้เมื่อมีอาการและให้วันละกี่ครั้ง เป็นต้น
R6
Right  technique
คือ
ให้ถูกวิธี เช่น  การทำลายระบบนำส่งยาหรือรูปแบบการส่งยาที่พิเศษ เช่นการบดยาที่ค่อยๆปลดปล่อยตัวยา การบดยาที่ไม่ควรบด


หรือ จำหลักง่ายๆในการเตือนตนเอง  คือ
-         ยาของใคร
-         ชนิดไหน 
-         ขนาดเท่าไร
-         ให้ทางใด
-         เวลาใด
นอกจากหลักการให้ยาที่ถูกต้องแล้วสิ่งที่ควรทราบไว้เป็นพื้นฐานของผู้ดูแลผู้สูงอายุ คือ
ประเภทของยาที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ดังนี้
ประเภทของยา
แบ่งออกเป็น  2 ประเภทใหญ่ๆ   คือ
1.   ประเภทยาใช้ภายใน  ได้แก่ ยาที่ให้เข้าไปในร่างกายโดยการรับประทาน หรือ การฉีด เช่น ยาเม็ด แคปซูล  ยาน้ำ  ยาผง หรือยาฉีด เป็นต้น
         ตัวอย่างยาที่ใช้ภายใน  ที่ใช้กับโรคเรื้อรังที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ มีดังนี้

ก. ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง  มีจุดประสงค์เพื่อลดระดับความดันเลือดให้ต่ำลง จะโดยวิธีการขับปัสสาวะ   หรือการลดการทำงานของหัวใจ   ซึ่งแพทย์มักให้ยาในผู้ที่ไม่สมารถควบคุมความดันเลือดให้อยู่ระดับที่ปกติได้  และมักให้พร้อมกับคำแนะนำการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น  ลดการกินเค็ม  อาหารที่มีมันหรือกะทิ ของหมักดอง ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่  และลดความวิตกกังวล  หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
ตัวอย่างชนิดยา
      -  Enalapril (5 มิลลิกรัม หรือ 20 มิลลิกรัม)
      -  Aldomet  (50 มิลลิกรัม หรือ 100มิลลิกรัม)
      -  HCTZ (50 มิลลิกรัม) หรือ Moduratic มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
      -  Atenelol  (50 มิลลิกรัม)  เป็นต้น
 ผลข้างเคียงที่อาจพบจากการใช้ยา
-  ระดับความดันเลือดต่ำ   หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม  หรืออาจมีคลื่นไส้ อาเจียน                     ข้อควรปฏิบัติ  ควรนอนพักและวัดระดับความดันเลือด หรือนำส่งแพทย์

ข. ยารักษาโรคเบาหวาน  มีจุดประสงค์เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยเพิ่มการดูดซึมน้ำตาลไปใช้ให้เกิดพลังงาน ไม่สะสมในกระแสเลือดมากเกินไป  มีทั้งชนิดฉีดและรับประทาน 
ตัวอย่างชนิดยา
ชนิดรับประทาน  เช่น Glipizide (5มิลลิกรัม) Minidiab (5มิลลิกรัม) ,Glucophage (500มิลลิกรัม)   เป็นต้น
ชนิดฉีด เช่น  อินซูลิน
ผลข้างเคียงที่อาจพบจากการใช้ยา
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป อาจมีอาการใจสั่น เหงื่อออก ตัวเย็น หน้ามืดคล้ายจะเป็นลมหมดสติ ได้
ข้อควรปฏิบัติ   ควรพกลูกอมหรือให้ดื่มน้ำหวานสักแก้วถ้าไม่ดีขึ้นหรือหมดสติควรพาไปพบแพทย์โดยด่วน (ถ้าหมดสติห้ามให้อาหารและน้ำทางปาก เพราะอาจสำลักได้)


ค. ยารักษาโรคหัวใจ  มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือช่วยลดการทำงานของหัวใจ  ทำให้หัวใจสามารถบีบตัวสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น
ตัวอย่างชนิดยา
เช่น Propanolol (10 มิลลิกรัม) Isordil  (10 มิลลิกรัม), Herbessor (30มิลลิกรัมหรือ 60 มิลลิกรัม)   เป็นต้น
ผลข้างเคียงที่อาจพบจากการใช้ยา
-  อาจเกิดการเต้นของหัวใจผิดปกติ  เช่น  เต้นช้าไปหรือเต้นเร็วไป  ทำให้เกิดอาการเหนื่อยหอบ, เจ็บแน่นหน้าอก  อ่อนเพลียไม่มีแรง เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติ    หากมียาอมใต้ลิ้นให้อมครั้งละ 1 เม็ดถ้าไม่หายให้อมติดต่อกัน  3  ครั้งห่างกันครั้งละ 5 นาที ถ้าไม่ดีขึ้นในระหว่างอมยาเม็ดที่ 2 ควรนำส่งแพทย์ทันที   หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกควรนำส่งถึงมือแพทย์ภายในเวลาไม่เกิน  2 ชั่วโมง

ง. ยารักษาการเจ็บป่วยทั่วไป
1.      ยาลดไข้ ปวดหัว ตัวร้อน เช่น พาราเซตามอล (500) ขนาดรับประทาน  2 เม็ด ทุก 4 – 6  ชั่วโมงหรือเมื่อมีอาการ
2.      ยาแก้ปวดข้อ กระดูก  กล้ามเนื้อ  เช่น  อินโดซิด  บรูเฟน  ไอบรูเฟน นาโพซิน  ขนาดรับประทานตามขนาดที่กำหนดไว้  ไม่ควรรับประทานทาน ตอนท้องว่างเพราะจะทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารได้
3.      ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน เมารถ เช่น ดาบามิน (Dramamine)   โมติเลียม (Motilium) เป็นต้น
      รับประทานก่อนเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง
4.      ยาแก้ท้องเสีย เช่น ผงเกลือแร่ (ขนาดรับประทานตามที่ระบุข้างซอง) หรือถ้าไม่มี     ใช้น้ำต้มสุก 1 ขวดกลม (750 ซีซี)หรือ 3 แก้ว + เกลือ ½ ชช. น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊  รับประทานภายใน 24 ชั่วโมง (ระวังการใช้ในผู้ที่เป็นโรคไต)
5.      ยาแก้ไข้หวัดลดน้ำมูก  เช่น  ทิฟฟี่   แอคติเฟต (Actifed)  (ปัจจุบันควรระวังการใช้ในผู้สูงอายุ) นอกจากนี้ยังมี  ยาแก้แพ้  ยาแก้ไอ  ยาขับเสมหะ เป็นต้น

หมายเหตุ  ถ้ายาเป็นแคปซูลไม่ควรแกะออกเพราะจะทำให้การออกฤทธิ์ของยาไม่ดีเท่าที่ควร




2. ประเภทยาใช้ภายนอก ได้แก่ ยาที่ใช้ภายนอกร่างกายห้ามรับประทาน เช่น ครีม ยาหยอดตา  ยาเหน็บ ยาพ่น  เป็นต้น (มักเขียนฉลากสีแดงติดข้างกล่องว่า “ยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน” )
ตัวอย่างยาที่ใช้ภายนอก เช่น
1.     ยาทางผิวหนังต่างๆ เป็นลักษณะครีม เช่น ยาแก้ปวด เคล็ดขัดยอก ( Methyl Salicylate) ,บาล์ม,
-     ยาแก้เชื้อรา เช่น clotrimazole cream
-     ยาทาแก้คัน เช่น (calamind lotion)
2.     ยาหยอดตาต่างๆ  เช่น มักใช้แก้ระคายเคือง, หรือทดแทนน้ำตาเทียม หรือรักษาโรคตาบางชนิด
3.     ยาทาแผลต่างๆ เช่น แอลกอฮอลส์ 70 %, เบตาดีน เป็นต้น
- เมื่อใช้แล้วควรปิดฝาให้สนิท  ระวังการระเหยซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง

แนวทางในการปฏิบัติในการให้ยาในผู้สูงอายุ

1.      ผู้ดูแลควรศึกษาถึง รูปร่าง ลักษณะและสรรพคุณของยาแต่ละชนิดที่รับประทานอยู่เป็นประจำและแนะนำผู้สูงอายุทราบด้วย (เวลาแพทย์ถามจำสรรพคุณยาไม่ได้ก็ยังบอกรูปร่างลักษณะของยาได้ เช่น เม็ดกลมแบนขนาดเล็กสีส้ม  รับประทานครั้งละครึ่งเม็ดตอนเช้า เป็นต้น)
2.      เขียนขนาดและวิธีรับประทานตัวโต ๆ ติดบนฉลากยา (กรณีที่ผู้สูงอายุยังอ่านหนังสือได้ดี)
3.      อาจใส่กล่องแยกชั้นยา เช่น เช้า – กลางวัน – เย็น – ก่อนนอน (ก่อนหรือหลังอาหาร) เพราะเคยมีผู้สูงอายุหลงลืมรับประทานยาซ้ำ  ทำให้เกิดอันตรายมาก
4.      สถานที่เก็บยา ควรให้ปลอดภัยและเก็บไว้ห่างจากมือเด็ก (เพราะเคยมีเด็กหยิบยาไปรับประทานโดยผู้ใหญ่ไม่ทราบซึ่งอันตรายมาก)   บางชนิดต้องเก็บให้พ้นแสง (มักมีขวดสีชาหรือห่อฟอย)   ยาฉีดเบาหวานและยาหยอดตาจะเก็บไว้บริเวณฝาตู้เย็น
5.      ถ้าเป็นไปได้ผู้ดูแลผู้สูงอายุควรหยิบยาให้รับประทานเองกับมือ     วิธีนี้จะปลอดภัยที่สุด
6.      ผู้ดูแลควรหมั่นพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์เป็นประจำตามกำหนดนัด  หรือไปก่อนกำหนดนัดเมื่อมีอาการผิดปกติขึ้น

ข้อควรระวังในการใช้ยาในผู้สูงอายุ  ที่ควรทราบมีดังนี้

1.      ยามีปฏิกิริยาต่อกัน คือ การเกิดปฏิกิริยาระหว่างการใช้ยาตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ซึ่งบางครั้งสามารถใช้ยาร่วมกันได้แต่ควรเพิ่มระยะเวลาให้ห่างกันประมาณ 1-2 ชม. เพื่อป้องกันการลดการดูดซึมของยาอีกตัวหนึ่ง  เช่น  ยาแก้ปวดหลายชนิด จะใช้ควบคู่กับยาลดกรดหรือยาเคลือบกระเพาะ เช่น cimethidine หรือ Alum milk    
            ยาเม็ดบำรุงเลือดไม่ควรรับประทานร่วมกับนมเพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงควรรับประทานเว้นช่วงห่างจากการดื่มนม  2 ชั่วโมง
2.      การหยิบยาผิด  ลืมกินยาหรือกินยาเกินขนาดจากการหลงลืม  เช่น  คนไข้รับประทานยาลดความดันโลหิต 2 ครั้ง (เพราะคิดว่ายังไม่ได้กิน) ทำให้เกิดอาการหน้ามืด เวียนศีรษะเนื่องจากระดับความดันโลหิตลดลงต่ำเกินไป     ซึ่งข้อนี้จะเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุมากอาจทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงได้
3.      การชอบรับประทานยาสมุนไพรบางชนิดที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน หรือการรับประทานยาชุดที่ซื้อรับประทานเองตามคำแนะนำของเพื่อนบ้านหรือหมอตี๋     ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสารสเตียรอยด์ (steroid) จะมีอาการดีขึ้นในช่วงแรกๆต่อเมื่อรับประทานไปนาน ๆ    จะเกิดผลเสียต่อไตและสุขภาพอย่างมาก
4. หากเกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น คัน  บวม แน่นหน้าอกหายใจไม่ออกให้หยุดยาทันทีและรีบมาพบแพทย์   และจำยาชนิดที่แพ้ไว้เพื่อให้ประวัติต่อการรักษาทุกครั้ง
5. ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น  ยาลดความดันบางกลุ่มทำให้ไอมาก   ยาบางกลุ่มทำให้ท้องเสียปากแห้ง เป็นต้น ต่างๆ   เหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์
                6. การใช้ยาสมุนไพรหรือยาแพทย์แผนโบราณ ยาผีบอก ควรใช้การพิจารณาและควรระมัดระวัง ศึกษาจากผู้ที่ผ่านการอบรมมาเท่านั้น  เพราะอาจเกิดอันตรายต่อไตและตับได้ภายหลัง

เอกสารอ้างอิง

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. (2542). สาระน่ารู้เพื่อผู้สูงวัย. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. กรุงเทพมหานคร.
พวงผกา  คงวัฒนานนท์. (2546). การใช้ยา และแนวทางการักษา ในเอกสารประกอบการสอนรายวิชาการพยาบาลพื้นฐาน. ปทุมธานี. คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สภาการพยาบาล ร่วมกับชมรมเภสัชกรรมชนบท และสภาเภสัชกรรม (2545) คู่มือการใช้ยาในการรักษาพยาบาลโรคเบื้อต้นสำหรับผู้ประวิชาชีพ พยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง สภาการพยาบาล. นนทบุรี.
สุรเกียรติ  อาชานานุภาพ. (2543). ตำราตรวจรักษาโรคทั่วไป หลักการวินิจฉัย / 280 โรคและการดูแลรักษา . กรุงเทพฯ.  สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.