ยาหยอดตา
ลักษณะของยาหยอดตา
- เป็นน้ำยาใส หรือเป็นน้ำยาแขวนตะกอน (คล้ายน้ำนม)
ข้อดี
- ออกฤทธิ์เร็ว ไม่ทำให้ตามัว นิยมใช้ในเวลากลางวัน เพราะไม่เหนียวเหนอะหนะ
ข้อเสีย
- หมดฤทธิ์เร็ว เพราะยาจะอยู่ในตาได้ไม่นาน
วิธีการใช้ยาหยอดตา
- ล้างมือให้สะอาด
- นอนหรือนั่งแหงนหน้าขึ้น
- ดึงเปลือกตาล่างลงให้เห็นกระพุ้งระหว่างเปลือกตาล่างด้านในกับตาขาว
- หยอดยาลงในกระพุ้งตาล่าง 1-2 หยด ระวังอย่าให้ปลายหลอดสัมผัสกับตาผู้ป่วยหรือมือผู้หยอด
- หลับตานิ่ง ๆ สักครู่ และเช็ดน้ำยาส่วนที่ไหลจากตา
ยาป้ายตา
ลักษณะของยาป้ายตา มักบรรจุในหลอดโดย
- เป็นครีมเหนียว หรือเป็นเจลใส คล้ายวุ้น
ข้อดี
- ออกฤทธิ์ได้นาน ทำให้ไม่ต้องป้ายตาบ่อย และมักมีสารหล่อลื่น ทำให้ลดการระคายเคือง
ข้อเสีย
- ทำให้ตามัว และเหนียวเหนอะหนะ จึงนิยมใช้ป้ายตาก่อนนอน
วิธีการใช้ยาป้ายตา
- ล้างมือให้สะอาด
- นอนหรือนั่งแหงนหน้า หน้ากระจก
- ดึงหนังตาล่างลงให้เป็นกระพุ้ง
- บีบยาป้ายตาโดยเริ่มจากหัวตาไปหางตา ยาว 1 เซนติเมตร ระวังอย่าให้ปลายหลอดสัมผัสกับตาผู้ป่วยหรือมือผู้หยอด
- หลับตาทิ้งไว้สักครู่
- การป้ายตา ควรป้ายก่อนจะนอนจริงๆ เพราะจะทำให้ตาพร่ามัว อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ข้อควรทราบเกี่ยวกับการใช้ยาหยอดตา*ยาป้ายตา
- ตรวจสอบว่าควรหยอด/ป้ายตา ให้ใช้กับตาข้างใด ใช้ยาเพียง 1-2 หยด และระยะเวลาตามที่กำหนด เพราะยาหยอดตาถ้าหยอดมากเกินไป อาจเกิดอันตรายได้
- ควรเก็บยาไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา หรือในที่เย็น แดดส่องไม่ถึง
- ยาที่เปิดใช้แล้วเกิน 1 เดือน หรือยาเปลี่ยนสีหรือหมดอายุ ให้ทิ้งไป ไม่ควรนำมาใช้
- ไม่ควรใช้ยาร่วมกับผู้อื่น เพราะจะทำให้ติดเชื้อโรคหรือเป็นอันตรายได้
- ห้ามซื้อยามาหยอดเอง เพราะอาจทำให้ตาบอดได้
- ควรบอกโรคประจำตัวและประวัติการแพ้ยากับแพทย์ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับยาให้ถูกต้อง
- กรณีใช้ยาหยอดหรือป้ายตาร่วมกัน ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ควรหยอดยาที่ใส – ยาที่แขวนตะกอน (คล้ายน้ำนม) - ยาป้ายใส – ยาป้ายครีมเหนียว ตามลำดับ โดยหยอดหรือป้ายห่างกันอย่างละ 5-10 นาที เพื่อให้ยาแต่ละช่วง ซึมเข้าตาได้ดี ออกฤทธิ์ได้เต็มที่
- ในกรณีที่มีขี้ตาหรือสิ่งสกปรก ควรทำความสะอาดตาก่อน เพื่อให้ยาสัมผัสกับตาได้ดี
- ควรระวังผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังหยอดหรือป้ายตาดังนี้
1). การแพ้ยา จะมีอาการเปลือกตาและเยื่อบุตาขาวบวมแดง, เป็นผื่นคัน ต้องรีบหยุดยาและนำยามาพบแพทย์
2). ต้อหิน และต้อกระจก อาจเกิดจากการใช้ยาหยอดหรือป้ายตาบางชนิดได้
ที่มา : ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย